หน้าเว็บ

ประวัติและปฏิปทาหลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ

หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ
วัดเวฬุวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสพุง จ.เลย

           นามเดิมของท่าน : นายสมศรี ศรีบุญเรือง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ ที่บ้านหนองบัวบาน ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี บิดาชื่อนายชน ศรีบุญเรือง มารดาชื่อนางเผือ ศรีบุญเรือง 
         หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของตระกูล “ศรีบุญเรือง” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน เป็นชาย ๖ คน เป็นผู้หญิง ๑ คน พื้นเพเดิมบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของท่านเป็น ชาวบ้านผาน้อย  ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย บรรพบุรุษของท่านได้อพยพหนีภัยแล้ง จากบ้านผาน้อยไปอยู่ที่บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี หลวงพ่อสมศรีท่านจึงได้มาถือกำเนิดที่บ้านหนองบัวบาน

       ชีวิตในวัยเด็กนั้น บิดามารดาชอบพาไปทำบุญเป็นประจำ  ท่านเป็นคนเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนพูดน้อย ขยันเอาการเอางาน  เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดาของท่านได้เสียชีวิตลง  ต่อมาท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมบ้านหนองวัวซอ  เมื่อจบชั้น ป.๔ แล้ว จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ  เพราะไม่สะดวกต่อการเดินทางไปเรียน โดยอยู่ช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา  ในช่วงนั้นเมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา ท่านได้ศึกษาวิชาทางการแพทย์ กับทหารเสนารักษ์ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้าน  ทำให้ท่านมีความรู้ในเรื่องของยาและการรักษาในเบื้องต้นและได้รักษาคนในหมู่บ้าน

**เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ**

          พออายุท่านได้ ๒๐ ปี ท่านมาพิจารณาดูในชีวิตของตนเอง ทั้งอดีตและอนาคต ชีวิตของท่านแต่ละวันละปี มีแต่หมุนเวียนอยู่แต่กับไร่กับนาอยู่อย่างนั้น  ชีวิตจะหาทางแตกปอกนอกคอกไปจากนี้ไม่มีกับเขา


หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
       ครั้นคิดถึงรุ่นพี่ หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร  ละหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร ที่ท่านออกบวชไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านอยากจะออกบวชตามรุ่นพี่ ท่านจึงขอมารดาออกบวช มารดาและญาติพี่น้องของท่านมีความยินดีที่ท่านจะออกบวช มารดาและญาติพี่น้องจึงพาท่านมาฝากเป็นลูกศิษย์พระคุณเจ้า หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธารามบ้านหนองบัวบาน ต.หมาหญ้าอ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เพื่อหัดท่องขานนาคและฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระป่า


หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป
หลวงปู่สวัสดิ์ ขันติวิริโย
            หลวงพ่อสมศรี ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุคู่กับหลวงพ่อบุญรอด โดยหลวงพ่อสมศรีเป็นนาคขวา หลวงพ่อบุญรอดเป็นนาคซ้าย เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี  พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเมธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่จันโท กตปุญโญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่สวัสดิ์ ขันติวิริโย)  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “อัตตสิริ” แปลว่า ผู้งดงามในธรรม


      พอบวชแล้วได้ พรรษาแรกที่หลวงพ่อสมศรีท่านบวชมา ท่านจำพรรษากับองค์ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี หลังพ้นพรรษาที่สองแล้ว องค์ท่านหลวงปู่อ่อนบอกให้ท่าน กับ หลวงพ่อบุญรอด อธิปุญโญ และพระอีกสามรูป เดินทางไปฝึกปฏิบัติกับองค์ท่าน “หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน หลวงพ่อสมศรีกับเพื่อนพระอีกสี่รูป จึงพากันเดินเท้ามาหาองค์ท่านหลวงปู่ชอบที่บ้านโคกมน

       หลวงพ่อสมศรีท่านเดินทางมาถึงวัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน เวลาราวสองทุ่ม ท่านเข้าไปกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ท่านหลวงปู่ชอบ 
หลวงปู่ชอบก็บอกให้ท่านกับหมู่เพื่อนที่มาด้วยกันไปหาที่พักตามอัธยาศัย โดยที่องค์ท่านหลวงปู่ชอบก็ไม่ได้พูดอะไรกับท่านมาก

        องค์ท่านหลวงปู่ชอบพิจารณาในวาสนาของพระทั้งห้ารูป ที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์ท่านในวาระเดียวกัน องค์ท่านเห็นพระสองรูปที่จะเจริญในธรรม อีกสามรูปจะตายคาโลก 
องค์ท่านพิจารณาในหลวงพ่อสมศรีโดยรอบแล้ว หลวงปู่ชอบท่านจึงบอกกับศิษย์รุ่นพี่ของหลวงพ่อสมศรี ที่เป็นคนบ้านหนองบัวบานเหมือนกันว่า 


“เราจะฝึกท่านศรีให้เป็นทายาทธรรมสืบพระศาสนาแทนเรา”


อนึ่ง องค์ท่านหลวงปู่ชอบจะวางลูกศิษย์ลูกหาท่านใด
ให้เป็นทายาทธรรมสืบพระศาสนา 
องค์ท่านจะพิจารณาในวาสนาลูกศิษย์ผู้นั้น ดังนี้ 
๑. เป็นผู้ที่รู้ธรรม 
๒. เป็นผู้ที่มีวาสนาสอนบรรพชิตและฆราวาส 
๓. เป็นผู้ที่มีบริวารบรรพชิตและฆราวาส 
๔. เป็นผู้ที่มีบารมีสงเคราะห์โลกและธรรมได้


     จากนั้นมาองค์ท่านหลวงปู่ชอบจึงฝึกฝน เคี่ยวเข็ญหลวงพ่อสมศรีอย่างเข้มข้น หลวงปู่ชอบท่านพาหลวงพ่อสมศรีออกเที่ยววิเวก ฝึกฝนความอดทนตามป่าเขาในเขตเมืองเลย บางครั้งหลวงปู่ชอบท่านก็ปล่อยปละละทิ้ง ให้อยู่ในที่กันดารเพื่อทดสอบจิตใจของหลวงพ่อสมศรี


หลังจากองค์ท่านหลวงปู่ชอบเดินไม่ได้ หลวงปู่ชอบท่านมอบหมายให้หลวงปู่ลี กุสลธโร  หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร ทำการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมหลวงพ่อสมศรีต่อจากองค์ท่าน แต่รุ่นพี่ที่ฝึกฝนท่านมาอย่างโหดลำบากที่สุดคือ หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
หลวงพ่อสมศรีท่านจึงเป็นหนึ่งในทายาทธรรมกรรมฐานเมืองเลย สมกับที่องค์ท่านหลวงปู่ชอบไว้วางใจให้สืบทอดพระศาสนาและแนวทางพระกรรมฐานเมืองเลยแทนองค์ท่าน



**การจำพรรษาและเที่ยวธุดงค์หลวงพ่อสมศรี**


พรรษาที่ ๑-๒ 
สองพรรษาแรกที่หลวงพ่อสมศรีท่านบวชมา
ท่านจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี





พรรษาที่ ๓ 
ท่านได้อยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ผาง ปริปุณโณ
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร และสามเณรอีก ๒ รูป 
ที่สำนักสงฆ์บ้านซำขี้นาค ต.หินฮาว อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

พรรษาที่ ๔ 
ท่านจำพรรษาที่วัดป่าอูบมุง ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

พรรษาที่ ๕ 
ท่านมาจำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น 
ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ร่วมกับหลวงปู่ผาง ปริปุณโณ 
และได้ช่วยเตรียมงานถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ

พรรษาที่ ๖
ท่านได้ติดตามหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร 
ไปกราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และได้อยู่จำพรรษา
ที่วัดป่าห้วยลาด ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมกัน ๓ รูป 
คือ หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร และหลวงพ่อเจริญ อมโร 
แห่งวัดป่าภูวังทอง บ้านพรหมลิขิต ต.หัวนาคำ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี

พรรษาที่ ๗ 
ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่า ต.บ้านเหล่า อ.คําชะอี จ.มุกดาหารร่วมกับหลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร และหลวงพ่อบุญรอด อธิปุญโญ(ปัจจุบันหลวงพ่อทั้งสองรูปได้มรณภาพไปแล้ว)

พรรษาที่ ๘ 
จำพรรษาที่วัดบ้านวังไฮ ต.ภูวง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

พรรษาที่ ๙
จำพรรษาที่วัดป่าสานตม ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย 
ร่วมกับหลวงปู่ลี กุสลธโร และหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร 
กับสามเณรเหลา (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์เหลา เจ้าอาวาสวัดป่าสานตม)

พรรษาที่ ๑๐ 
ก่อนเข้าพรรษาท่านได้ธุดงค์ร่วมไปกับหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร 
แล้วได้ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์แม่แสะ ต.โป่งเดือด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่



พรรษาที่ ๑๑ 

หลวงปู่จันทร์เรียนพาท่านกลับมาดูแลอุปัฏฐาก

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสานตม ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย โดยมี หลวงพ่อขันตี ญาณวโร แห่งวัดป่าม่วงไข่ บ้านม่วงไข่ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย ร่วมจำพรรษาด้วย 





พรรษาที่ ๑๒ 
ท่านได้ติดตามหลวงปู่จันทร์เรียนธุดงค์เที่ยววิเวกไปทางภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ และได้อยู่จำพรรษาด้วยกันสองรูป กับสามเณร ๑ รูป 
ที่สำนักสงฆ์บ้านป่าสักน้อย ต.บ้านเหล่า อ.เวียงชัย จ.เชียงราย 
หลังออกพรรษาท่านก็ธุดงค์กลับลงมาอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย



หลวงปู่คำแปลง
พรรษาที่ ๑๓ 
ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาสิงห์ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกับหลวงพ่อคำแปลง ปุณณชิ แห่งวัดป่าพรไพรวัลย์ บ้านดงสวรรค์ ต.ดงสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู







พรรษาที่ ๑๔-๒๐ 
หลวงพ่อสมศรีเที่ยววิเวกอยู่ที่เมืองเลย 
และจำพรรษาเวียนสลับอยู่ ๓ ที่ คือ
วัดป่าห้วยลาด วัดป่าสวนกล้วย และวัดป่าอัมพวัน


พรรษาที่ ๒๑-๒๕ 
หลวงพ่อสมศรีได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำสหาย บ้านทับกุง 
ต.ทับกุง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ร่วมกับหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร และได้อยู่ช่วยสร้างเสนาสนะภายในวัดถ้ำสหาย 
ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นสถานที่ธุรกันดารยิ่งนัก

พรรษาที่ ๒๖ 
หลวงพ่อสมศรีกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสวนกล้วย บ้านสวนกล้วย 
ต.กกทอง อ.เมือง จ.เลย ร่วมกับหลวงพ่อสมัย ธัมมโฆสโก 
แห่งวัดป่าบุญญานุสรณ์ ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


พรรษาที่ ๒๗-๒๘ 
หลวงปู่จันทร์เรียน

หลวงพ่อสมศรีกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำสหาย จ.อุดรธานีร่วมกับหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร พอออกพรรษาแล้วท่านจึงกลับมาอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และเป็นหัวหน้าหมู่คณะสงฆ์ที่วัดป่าโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย






หลวงพ่อประสิทธิ์
พรรษาที่ ๒๙ 
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร ได้ให้หลวงพ่อสมศรี มาอยู่ที่วัดป่าเวฬุวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นวัดเก่าที่หลวงพ่อประสิทธิ์ เคยอยู่มาก่อนหลวงพ่อสมศรีจึงอยู่จำพรรษาที่วัดป่าเวฬุวนาราม ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน







*คำปรารภของครูบาอาจารย์ เกี่ยวกับหลวงพ่อสมศรี**


หลวงปู่ชอบ

       หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านเคยปรารภให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า “ท่านศรีเป็นลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งของเราที่มีภูมิธรรมสูง ท่านศรีเป็นผู้ไม่มีความบกพร่องในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่พึ่งพาอาศัยทางใจของลูกศิษย์ต่อไปในอนาคต”




หลวงปู่จันทร์เรียน

หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร ศิษย์ผู้พี่ ท่านก็เคยปรารภว่า “ท่านศรี เป็นคนเงียบๆ พูดน้อย ถูกอัธยาศัยกับเรา เราจึงยอมให้ท่านศรีธุดงค์ไปร่วมกันกับเรา ท่านศรีไปไหนกับเราถึงไหนถึงกัน ไม่มีบ่น หรือท้อถอย”

นอกจากนี้แล้ว หลวงปู่จันทร์เรียนท่านเคยกล่าวชมเชย ในความสมถะเรียบง่าย และความอดทนของหลวงพ่อสมศรีว่า “เราฝึกท่านศรีให้หลวงปู่ชอบ บางครั้งเราทรมานท่านศรีทางอาหาร บิณฑบาตได้ไข่ต้มมาเราแบ่งให้ฉัน ไข่มันก็เป็นไข่ต้มธรรมดาไม่ได้มีพริกมีเกลือพอให้รู้รสชาติว่าเผ็ดเค็ม ถามท่านศรีว่าเป็นใด๋ศรี รสชาติเป็นจั๋งใด๋ ท่านศรีกะว่า พอดีครับ”

“วันหน้าได้ไข่ต้มมาอีก เราให้เณรเอาน้ำปลาเทใส่จนชุ่มน้ำปลารสชาติเค็มจนขม ถามท่านศรีว่ารสชาติเป็นจั๋งใด๋ ท่านศรีกะว่าพอดีครับ เราทรมานความอดทนท่านศรีมาหลายอย่างจนพอแล้ว 
ท่านศรีทนลำบากทางกายทางใจได้หมดแล้ว จนท่านศรีไปอยู่วัดสวนกล้วยแทนเรา จากนั้นมาเราก็บ่สงสัยทั้งทางนอกทางในของท่านศรีอีกแล้ว”


หลวงปู่ลี กุสลธโร แห่งวัดเกษรศิลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง) ได้
หลวงปู่ลี กุสลธโร
บอกกับหลวงพ่อสมศรีให้พิจารณาในเรื่องสงเคราะห์โลกว่า
“ท่านสอนตนเองได้แล้ว ก็ออกมาสอนผู้อื่นช่วยครูบาอาจารย์บ้าง”
หลวงพ่อสมศรีท่านพิจารณาในคำพูดขององค์ท่านหลวงปู่ลี ท่านนั่งพิจารณาในธรรมคำนี้อยู่ที่ข้างกองฟืนตั้งแต่ฉันข้าวเสร็จจนถึงเวลาบ่ายสามโมง ท่านถึงปลงใจที่จะออกมาสงเคราะห์โลก



หลวงพ่อประสิทธิ์
       วันหนึ่งหลวงพ่อสมศรีนั่งอยู่กับพื้นต่อหน้าขององค์ท่านหลวงพ่อประสิทธิ์ องค์ท่านหลวงพ่อประสิทธิ์ได้พูดขึ้นมาว่า “เรารู้ศาสนาแล้วถ้าเราไม่สอนคนในศาสนา ศาสนาก็จะสั้นลง ถ้าอยากให้ศาสนายืนยาวก็สอนคนในศาสนาบ้าง”หลวงพ่อสมศรีท่านไม่พูดอะไรขึ้นมาในตอนนั้น ท่านพนมมือน้อมรับในคำพูดขององค์ท่านหลวงพ่อประสิทธิ์


**ด้านวัตถุมงคล**

หลวงพ่อสมศรี เดิมท่านไม่มีปฏิปทาทางด้าน การสร้างวัตถุใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุมงคล หรือ สิ่งก่อสร้าง แต่ท่านจะเป็นพระปฏิบัติ เน่นพิจารณาธรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อหลายปีหลังมานี้ ทั้งลูกศิษย์ลูกหา คณะศรัทธามีมากขึ้น มีเรื่องให้เกี่ยวข้องเกี่ยวพันธ์กับการสงเคราะห์โลก

         หลวงพ่อท่านก็เมตตาอนุโลมให้ตามโอกาสอันเหมาะสม และเป็นไปเพื่อประโยชน์เท่านั้น มิให้มีการซื้อขาย หรือสร้างเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด โดยวัตถุมงคลที่ท่านอนุญาต ในนามของท่านมักจะเป็นรูปพระพุทธ หรือ รูปครูบาอาจารย์ของท่านเป็นส่วนใหญ่ เช่น เหรียญหลวงปู่ชอบ ฐานสโม รุ่นสร้างตึกโรงพยาบาลเอราวัณ  เมื่อปี พ.ศ.2559

เหรียญสร้างโรงพยาบาล เอราวัณ
เมื่อปี พ.ศ.2559
        ซึ่งหลวงพ่อท่านเมตตารับอนุเคราะห์ สร้างตึกโรงพยาบาล เอราวัณนี้ให้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยทั่วไป โดยมีการขออนุญาตหลวงพ่อจัดสร้างอย่างถูกต้อง มีการจัดสร้างด้วยกัน 4 เนื้อ 2 แบบ คือ เหรียญขนาดใหญ่ และ เหรียญขนาดเล็ก

- เหรียญขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ประมาณไม่เกิน 30 เหรียญ เนื้อเงินประมาณ 600 เหรียญ เนื้ออัลปาก้าประมาณ 5000 เหรียญ เนื้อทองเหลืองประมาณ 50000 กว่าเหรียญ
- เหรียญขนาดเล็ก ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ประมาณไม่เกิน 30 เหรียญ เนื้อเงินประมาณ 300 เหรียญ เนื้อทองเหลืองประมาณ 100000 เหรียญ

**โดยแจกท่านผู้มีจิตศรัทธา ร่วมสร้างตึกโรงพยาบาลเวราวัณนี้จนแล้วเสร็จ เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท**

**************

อ้างอิงข้อมูล 
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=48908
ผู้เขียน (อดีตครูบากล้วย - พระวีระศักดิ์ ธีรภัทโท)